วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

โชแปง(Chopin)

 โชแปง มีฉายาว่า กวีแห่งเปียโน (Piano Poet) เขาคือ คิตกวีที่โด่งดังแห่งดนตรียุคโรแมนติค (Romantic Music) ยุคที่การเล่นดนตรีมรการแทรกอารมณ์ลงในเพลง ซึ่งต่างจากยุคก่อนๆ
           โชแปง เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2353 (ค.ศ.1810) แต่ในบันทึกของสังฆมณฑลบอกว่าเป็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่เมือง เซลาโซวา โวลา (Zelazowa Wola) ซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศโปแลนด์ มีแม่เป็นคนโปแลนด์เขาจึงเป็นชาวโปแลนด์ตามเชื้อสายของแม่ และพ่อเป็นคนฝรั่งเศษผู้ซึ่งมายังโปแลนด์เพื่อสอนภาษา ตอนที่เกิดโชแปงมีชื่อว่า Fryderyk Franciszek Chopin บางครั้งจะเขียนว่า Szopen มีชื่อเป็นภาษฝรั่งเศสว่า Frederic Francois Chopin (เฟรเดริก ฟรองซัว โชแปง ) โชแปงมีพี่น้องผู้หญิงอีก 3 คน โดยเขาเป็นลูกผู้ชายเพียงคนเดียวของครอบครัว 

ภาพ Chopin's Birthplace
ที่มา olgabordas.com
           เขาเป็นเด็กผู้ชายที่มีรูปร่างบอบบาง เขามีจิตใจอ่อนไหวง่าย เป็นเด็กที่รักธรรมชาติ  ในวัยเด็กถือได้ว่าโชแปงอยู่ครอบครัวที่ฐานะดีก่อนที่จะมายากจนในภายหลัง เขาได้รับการเลี้ยงดูและสอนหนังสืออยู่ในกลุ่มของลูกผู้มีการศึกษาในโรงเรียนที่พ่อสอน

           "พรสวรรค์"ใน เรื่องดนตรีของโชแปงได้ฉายเเววขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ในวันที่แม่เล่นเปียโนให้ลูกๆฟัง เด็กน้อยชูแปงกลับร้องไห้โยเย ทำอย่างไรก็ไม่หยุดร้อง จนแม่ต้องอุ้มโชแปงไปนั่งที่ตักก่อนที่จะเริ่มเล่นเปียโนอีกที นั้นเองเด็กน้อยโชแปงจึงหยุดร้อง และตั้งใจฟังเพลงที่แม่บรรเลงอย่างเงียบกริบด้วยความอยากรู้ จากนั้นเองแม่จึงตัดสินใจส่งโชแปงไปเรียนเปียโน ตั้งแต่อายุ 6 ขวบกับ Wojciech Zywnyครูผู้ชื่นชอบดนตรีของ Bach , Mozart และ Beethoven และเมื่อเรียนได้เพียงหนึ่งปี อัจริยะผู้นี้ก็ก็แต่งเพลงได้ คือเพลง Polonaise in G Mino และออกแสดงต่อสาธารณะชนครั้งแรกในปีถัดมา ซึ่งมีอายุเพียง 8 ขวบเท่านั้น โดยบรรเลงเพลงคอนแชร์โตประพันธ์โดย Gyrowetz  นิ้วที่พลิ้วไหวและดนตรีที่มีอารมณ์ทำให้ชื่อเสียงของโชแปงเริ่มเป็นที่ร่ำลือ และเมื่ออายุ 15 ปี เขาก็ได้บรรเลงเพลง Rondeau for Piano, Opus 1 ผลงานประพันธ์ชิ้นแรกของเขาต่อหน้าสาธารณชน และชื่อเสียงของโชแปงก็ร้อนแรงตั้งแต่อายุเพียงแค่สิบกว่าปีเท่านั้น จนได้รับการขนานนามว่า “โมซาร์ตคนที่ 2” (second Mozart)

ภาพ ภาพวาดโชแปงเล่นดนตรี
ที่มา thummada.com
           โชแปงเข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนดนตรีแห่งกรุงวอซอร์ (Warsaw Conservatory) โดยได้มาเรียนกับ Joseph Elsner ซึ่งเป็นครูเปียโนโดยตรง และเป็นผู้จัดการของ Warsaw Conservatory โดยเน้นศึกษาทฤษฎีดนตรี harmony counterpoint และ การประพันธ์เพลง  
           โชแปงเป็นเด็กหนุ่มที่มีสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรง  ในฤดูร้อนโชแปงจึงชอบไปพักผ่อนแถวชนบท เพื่ออยู่รับอากาศบริสุทธิ์ แต่ก็ดีที่บรรยากาศได้สร้างแรงบันดาลใจให้โชแปงประพันธ์เพลงออกมา โดยส่วนหนึ่งของเพลงที่แต่งนั้นก็มาจากเลือดรักชาติที่เข้มข้นของเขานั้นเอง เช่น เพลง POLONAISE ซึ่งเป็นเพลงที่ แสดงออกถึงความรักชาติโปแลนด์ และความรู้สึกรักชาติ รักมาตุภูมินี้คือสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเขาไปตลอดชีวิต
           โชแปงเดินสายแสดงคอนเสิร์ตไปทั่วยุโรป แต่เรื่องร้ายๆก็เกิดขึ้น เมื่อรัสเซียได้บุกยึดประเทศโปแลนด์  ทำให้โชแปงจึงไม่ได้กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอีกเลยจนกระทั่งเสียชีวิต คีตกวีเอกของโลกผู้นี้ ใช้ชีวิตเกือบ 20 ปีอยู่ในดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิดของเขา มีแต่เพียงก้อนดินของโปแลนด์ที่นำติดตัวเอาไว้เตือนใจ ด้วยความเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนไหวง่าย โชแปงมีความรู้สึกหดหู่อย่างมากกับการที่ต้องรับรู้ว่าชาวโปแลนด์ถูกผุ้รุกรายทารุณกรรมอย่างโหดร้าย สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เขาเขียนเพลงเพื่อมาตุภูมิ และหารายได้จากความสามารถทางดนตรีเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ 

ภาพ Frederic Francois Chopin
ที่มา 
www.joystiq.com 
           ในปี 1830 โชแปงเดินทางจากโปแลนด์ไปสู่เทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งในยุโรป โชแปงมีอาชีพเป็นครูสอนดนตรีให้กับลูกหลานของขุนนางเศรษฐี พวกเด็กๆต่างรักครูโชแปง เพราะเขาไม่หวงวิชา และสอนด้วยความตั้งใจเต็มที่

           ที่ปารีสเขาได้พบกับเพื่อนนักดนตรีที่มีความสามารถ ซึ่งต่อมาพวกเขาเหล่านี้ก็คือ นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงชื่อดังแห่งยุคโรแมนติด เช่น Franz Liszt), Vincenzo Bellini, Cherubini, Liszt, Meyerbeer และ Rossini 

           แม้จะมีเพื่อนเป็นนักดนตรีชื่อดังในยุคโรแมนติด แต่ในใจของโชแปงนั้น กลับหลงใหลบทเพลงของ เจ.เอส.บาค ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงในยุคบาร็อค และ วูฟล์กัง อมาดิอุส โมสาร์ท นักแต่งเพลงในยุคคลาสสิค ถึงกับในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้ขอให้นำเพลงของโมสาร์ทมาบรรเลงในงานศพของเขา   

ภาพ ภาพวาดโชแปงเล่นดนตรีในปารีส
ที่มา 
www.weltchronik.de 
           แม้ในด้านของดนตรี โชแปงจะรุ่งโรจน์ แต่ในด้านสุขภาพกลับร่วงโรย ในช่วงกลางทศวรรษ 1830 สุขภาพของโชแปงได้เริ่มทรุดโทรมลงเรื่อยๆ

           เขาก็เป็นนักเปียนโนที่ยอดเยี่ยม ผลงานของโชแปงแทบทั้งหมดเป็นประเภทดนตรีสำหรับเปียโน สำหรับผลงานที่เด่นๆ ก็เช่น Ballade No.1 in G minor, Berceuse in D flat, Funeral March Piano Concerto No.1 in Em 1830, Twelve Etudes in Gb 1830, Mazurka in Cm 1830-49, Nocturne in C Sharp minor, Nocturne in Eb 1830-46 และ Waltz in E flat

ในดนตรีมีความรัก 
กล่าวกันว่าคีตกวีหนุ่มผู้นี้เป็นคนอ่อนไหวเรื่องความรักมากทีเดียว
           ในวัยหนุ่มอายุประมาณ 19 ปี โชแปงแอบรักนักร้องหญิงคนหนึ่งในการแสดงอุปรากร เธอชื่อ คอสทันย่าย่า แม้จะไม่กล้าเอ่ยปากบอกรัก แต่ก็ถึงกับแต่งเพลงให้เธอท่อนหนึ่งใน Piano Concerto No.2 in F minor ทั้งคู่ได้มีโอกาสร่วมงานกันครั้งหนึ่ง แต่หลังจากนั้นสองปีต่อมาเธอก็แต่งงานไปกับพ่อค้าผู้มั่งคั่งแห่งวอร์ซอว์

           จากนั้น โชแปงก็มาตกหลุมรักหญิงสาวผมดำยาวสลวย ที่ชื่อ มาเรีย ว้อดซินสก้า น้องของเพื่อนที่เยอรมนี และในครั้งนี้โชแปงก็แต่งเพลงให้เธออีกเช่นกัน นั้นคือ Nocturne No.1 Bb และถึงขนาดย้ายไปพักอยู่ที่บ้านของเธอนานนับเดือนแต่ในที่สุดก็ตัดใจลาจากกัน และมาเรียก็ได้แต่งงานไปกับท่านเคาน์โยเซฟ สตาร์เบค

           แต่ความรักของโชแปงที่โลกรู้จักก็คือ รักระหว่างเขากับ ออโรร์ ดือ เดอวองต์ (Aurore Dudevant) นักเขียนผู้มีนามปากกา ยอร์ช ชังค์(George Sand) ซึ่ง Jerzy Antczak ผู้กำกับชาวโปแลนด์ ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ความรักที่งดงามในชื่อ Chopin-Desire for Love

ภาพ Chopin-Desire for Love
ที่มา img88.imageshack.us
           ยอร์ช ชังค์  เป็นนักประพันธ์นวนิยายชาวฝรั่งเศส เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ ฟิกาโร และ เรอวู เดอ ปารีส์ เธอมีอายุมากกว่าโชแปง 6 ปี และเป็นแม่ม่ายลูกติด ยอร์ช ชังค์  ไม่ใช่ผู้หญิงอ่อนหวานในแบบที่โชแปงเคยหลงรัก เธอเป็นหญิงแกร่ง ทำให้เขาประทับใจในความเก่งกล้า และความเข้มแข็งของเธอ ในปี ค.ศ. 1837 ทั้งคู่เริ่มมีความสัมพันธ์กัน และโชแปงได้ไปอยู่กับเธอและลูกๆ ทั้งคู่ท่องเที่ยว  และเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน แต่หลังๆ ความสัมพันธ์ก็เริ่มไม่ราบรื่น ทั้งด้านความรัก ความสัมพันธ์กับลูกติดของ ยอร์ช ชังด์ และการเงิน  โชแปงยังคงตระเวณแสดงคอนเสิร์ตเพื่อนำเงินไปช่วยพี่น้องร่วมชาติชาวโปแลนด์ในการต่อสู้เพื่อเรียกรองเอกราช ในระหว่างนี้โชแปงยังประพันธ์เพลงไปด้วยแต่ก็สูญเสียความกระตือรือร้นในการประพันธ์เพลงลงไปมาก และจากสภาพครอบครัวที่มีรอยร้าว ประกอบกับตัวเขาเองที่เป็นวัณโรค  อะไรๆก็เริ่มย่ำแย่ ในที่สุดความรักก็ต้องปิดฉากลงในปี ค.ศ.1847  

ภาพ Chopin and George
ที่มา portraits.alsegno.se
           2 ปีต่อมา อาการวัณโรคของเขาทรุดหนัก เขาแสดงเปียโนต่อหน้าสาธารณชนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์1848 ที่กรุงปารีส หลังจากนั้นโชแปงช่วยหนักจนต้องเขียนจดหมายไปถึงแม่ที่โปแลนด์ให้ขอยืมเงินมาให้เขาด้วย น้องสาวจึงเป็นผู้นำเงินมาหาเขาที่ปารีส ก่อนตายโชแปงบอกน้องสาวว่าให้นำ "หัวใจ" ของเขากลับบ้านที่โปแลนด์ด้วย
           รุ่งสางของวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1849 เขาก็สิ้นชีวิตด้วยอายุเพียง 39 ปี งานศพของเขา มีวง Paris Conservatory Orchestra และวงประสานเสียงบรรเลงเพลง “เรควิม” ( Requiem )  ของโมสาร์ท ซึ่งเป็นเพลงที่โชแปงชอบมาก ตามที่เขาขอร้องไว้ก่อนตาย มีคนกว่า 3000 คนมาร่วมพิธีศพครั้งนี้  และในขณะที่โลงศพถูกหย่อนลงในหลุม ดินจากโปแลนด์ที่โชแปงได้นำติดตัวมาตลอด ก็ได้ถูกโปรยลงไปในหลุมฝังศพด้วย 
ที่หลุมฝังศพของเขามีคำจารึกว่า
พักอยู่ในความสงบ 
วิญญาณอันงดงาม 
ศิลปินผู้สูงส่ง 
ความไม่มีวันตาย
ได้เริ่มขึ้นแก่ท่านแล้ว

ภาพ อนุสาวรีย์โชแปงในโปแลนด์
อ้างอิง : http://www.vcharkarn.com/varticle/39693

15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปะ




15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปะ และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร อ่านประวัติ ศิลป์ พีระศรี พร้อมผลงานต่าง ๆ ของบิดาแห่งวงการศิลปะ ที่นี่

          ศิลป์ พีระศรี หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และบิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นแก่วงการศิลปะไทยให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และเนื่องด้วยในวันที่ 15 กันยายนของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น "วันศิลป์ พีระศรี" เพื่อรำลึกถึงครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อนักเรียนและศิลปะ จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต 

          และเราก็ไม่พลาดที่จะอาสาพาทุก ๆ ท่านไปทำความรู้จักกับ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย 

15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี

ประวัติ ศิลป์ พีระศรี

          ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เดิมชื่อ CORRADO FEROCI เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อนาง Santina Feroci เมื่ออายุ 23 ปี สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)

          สำหรับเรื่องการศึกษานั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม เมื่อปี 2441 พอจบหลักสูตร 5 ปี ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี หลังจากนั้นก็ได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะ แห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ในขณะที่มีอายุ 23 ปี หลังจากนั้นไม่นานก็รับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ ที่มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมอีกด้วย

          เมื่อปี 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ซึ่งผลการประกวดครั้งนี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และในวันที่ 14 มกราคม 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากร สถานแห่งราชบัณฑิตสภา

          จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2484 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนีกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไว้เอง ก่อนที่จะให้หลวงวิจิตรวาทการ ดำเนินการเดินเรื่องขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "นายศิลป์ พีระศรี" เพื่อป้องกันมิให้ต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกไปสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี

          สำหรับการวางรากฐานการศึกษา ในช่วงแรกศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จัดตั้ง "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง" เมื่อปี 2480 ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม และในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้แยกกรมศิลปากรออกจากกระทรวงศึกษาธิการและให้มาขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ เพื่อยกฐานะ "โรงเรียนศิลปากร" ขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร" เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2486 

          โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก และคณะวิชาเดียวที่มีการเปิดสอน คือ คณะจิตรกรรมประติมากรรม (สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรม)

15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี

          นอกจากนี้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ปี 2475), อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ปี 2477), พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (ปี 2484) และพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (ปี 2493-2494) เป็นต้น

          และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็ไม่ได้มีผลงานทางด้านศิลปะเพียงอย่างเดียวที่กลายเป็นที่จดจำของเหล่าลูกศิษย์ เพราะมีหลาย ๆ ครั้งที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จะหยิบยกคำสอนมาคอยเตือนใจลูกศิษย์ของตน โดยเฉพาะประโยคที่ว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ชีวิตของมนุษย์ช่างแสนสั้นนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการยืนยงคงอยู่ของศิลปกรรมที่จะยืนยงคงอยู่ยาวนานนับร้อยนับพันปี หรือประโยคที่ว่า "นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร" เพื่อเตือนใจลูกศิษย์ให้หมั่นศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ ๆ 
          
          เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน


15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี

ผลงาน ศิลป์ พีระศรี

ผลงานประติมากรรม

ผลงานประติมากรรมที่ทำในประเทศอิตาลี     

            - รูปคนเหมือนเฉพาะศีรษะ

            - รูปพระเยซูคริสต์ถูกนำลงมาจากไม้กางเขนนอนบนแผ่นหิน

            - อนุสาวรีย์ขนาดใหญ่รูปเทพเจ้าต่าง ๆ

ผลงานประติมากรรมที่ทำในประเทศไทย รูปเหมือนบุคคล

            - สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (เฉพาะพระเศียร) สำริด

            - พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะพระเศียร)

            - พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครึ่งพระองค์) ปูนปลาสเตอร์ กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร 

            - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 2 องค์ ปูนปลาสเตอร์ กองหัตถศิลป์

            - พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประติมากรรมนูนต่ำ ปูนปลาสเตอร์ หอศิลป์แห่งชาติ

            - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ครึ่งพระองค์) ปูนปลาสเตอร์ กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร

            - สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดเทพศิรินทราวาส (ครึ่งองค์) กรมศิลปากร

            - พระญาณนายก (ปลื้ม จันโทภาโส มณีนาค) วัดอุดมธานี นครนายก ประติมากรรมนูนสูง ปูนพลาสเตอร์

            - หลวงวิจิตรวาทการ (ครึ่งตัว) ปูนปลาสเตอร์ กรมศิลปากร

            - ม.ร.ว.สาทิศ กฤดากร (เฉพาะศีรษะ) บรอนซ์ เจ้าของ ม.จ.รัสสาทิศ กฤดากร

            - นางมาลินี พีระศรี (เฉพาะศีรษะ) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ กรุงเทพฯ

            - Romano (ลูกชาย ภาพร่างไม่เสร็จ) กรมศิลปากร

            - นางมีเซียม ยิบอินซอย (รูปเหมือนครึ่งตัว) บรอนซ์ หอศิลปแห่งชาติ

            - พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (เฉพาะพระเศียร)

            - พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  (ครึ่งพระองค์ ปั้นไม่เสร็จ เพราะศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมเสียก่อน)

ผลงานประเภทอนุสาวรีย์

            - พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร
 
            - พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประดิษฐาน ณ พระปฐมบรมราชานุสรณ์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพฯ
 
            - อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี นครราชสีมา
 
            - อนุสาวรีย์พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขนาด 3 เท่าพระองค์จริง ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ
 
            - อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี กรุงเทพฯ
 
            - อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐาน ณ ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี
 
            - พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล (องค์ต้นแบบ) นครปฐม

            - ประติมากรรมรูปปั้น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ

          และยังมีโครงการที่ทำยังไม่แล้วเสร็จอีกคือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน, อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ลพบุรี เป็นต้น 


15 กันยายน วันศิลป์ พีระศรี

คำสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

          "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น"    
     
          "อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก
          ฉันเองก็ยังศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา"

          "ฉันนับถือศาสนาศิลปะ เผยแพร่สอนศิลปะ ศิลปินอดข้าว เขาไม่ตาย
          แต่ถ้าห้ามเขาไม่ให้ทำงานศิลปะ เขาต้องตาย เขาอยู่ไม่ได้"

          "นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร"

          "ถ้านายรักฉัน คิดถึงฉัน ขอให้นายทำงาน"


ลูกศิษย์ ศิลป์ พีระศรี

          นอกจากผลงานในด้านศิลปะแล้ว ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังเป็นนักปั้นบุคลากรทางด้านศิลปะและศิลปินชั้นนำของประเทศไทยไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ 

          - นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2528 ทั้งยังเป็นศิลปินและจิตรกร ผู้ได้รับการยกย่องเป็น "ครูใหญ่ในวงการศิลปะ" และยังได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อปี 2526 

          - นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจําปี 2529

          - นายประสงค์ ปัทมานุช ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจําปี 2529

          - นายทวี นันทขว้าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2533 

          - นายสวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2534 

          - ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี 2541

          - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2542

          - นายอินสนธิ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี 2542 

          - ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ประจำปี 2543

          และนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2544 ซึ่งถือได้ว่าเป็นลูกศิษย์รุ่นท้าย ๆ ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปะในประเทศไทย  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://hilight.kapook.com/view/28448
   , คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดลฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรโครงการจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศิลปากร      

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

ลุดวิก แวน บีโธเฟน (Ludwig Van Beethoven)


บีโธเฟน อัจฉริยะด้านดนตรี คีตกวีหูหนวก
บีโธเฟน อัจฉริยะด้านดนตรี คีตกวีหูหนวก

บีโธเฟน อัจฉริยะด้านดนตรี คีตกวีหูหนวก

ชีวิตวัยเด็ก บีโธเฟน อัจฉริยะด้านดนตรี คีตกวีหูหนวก
ลุดวิก แวน บีโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) บุรุษผู้เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์อันอัจฉริยะในเชิงดนตรี แต่ความยิ่งใหญ่ของเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่สามารถในการรังสรรค์ตัวโน๊ตบนบรรทัดห้าเส้น เรียงร้อยถักทอ จนเสียงที่เล่นออกมาบรรเจิดล้ำโลกเพียงเท่านั้น แต่คีตกวีรายนี้มีความยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งอยู่ที่ความไม่ย่อท้อต่อเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเขา บีโธเฟ่นผู้ที่ไม่เคยตายจากวงการดนตรีคลาสสิคสร้างเสียงเพลงอมตะประดับโลกใบนี้เอาไว้ให้งดงามแม้หูขอองเขาจะหนวกสนิท!
บีโธเฟน เกิดที่กรุงบอนน์ (อดีตเมืองหลวงประเทศเยอรมนีตะวันตก) เมื่อปลายปี ค.ศ.1770 เป็นบุตรของนักร้องประจำราชสำนักแห่งกรุงบอนน์ นามว่า โยฮานน์ (Johann) มารดานาม Maria Magdalena ชีวิตในวัยเด็กของบีโธเฟน นั้นแสนขมขื่น ท่ามกลางความอัตคัด ขัดสนของครอบครัว พ่อนักร้องขี้เมา พยายามปั้นบีโธเฟนให้เป็น “โมสาร์ท สอง” โดยหวังจะให้ทำเงินหาเลี้ยงครอบครัว (บีโธเฟนเกิดหลังโมสาร์ท 15 ปี)
พ่อสอนดนตรีบีโธเฟนน้อยวัย 4-5 ขวบ ด้วยการบังคับให้ฝึกหัดบทเรียนเปียโนที่ยาก ซึ่งถ้าเล่นไม่ได้ก็ทำโทษ เป็นที่คาดเดาในภายหลังว่า ที่บีโธเฟนยังรักดนตรีอยู่ได้ก็เพราะภาพลักษณ์ของคุณปู่ซึ่งเป็นนักร้องประจำราชสำนักที่ประสบความสำเร็จ
โยฮานน์พยายามโปรโมตบีโธเฟนน้อย (อายุ 8 ขวบ) ให้เป็นเด็กนักเปียโนมหัศจรรย์อายุ 6 ขวบ แต่ผู้คนไม่ได้ให้ความสนใจนัก พอแผนการไม่ประสบผล โยฮานน์จึงเปลี่ยนจุดหมายให้บีโธเฟนเป็นนักดนตรีอาชีพให้เร็วที่สุด โดยจัดหาคนมาสอนดนตรีเพิ่มเติม
บีโธเฟน อัจฉริยะด้านดนตรี คีตกวีหูหนวก teen.mthaiimages
บีโธเฟน ทำงาน(ครั้งแรก) เลี้ยงงครอบครัวตั้งแต่อายุ 11 ขวบ!
อายุ ได้ 11 ขวบ บีโธเฟน?ได้เข้าทำงานเป็นนักออร์แกน ผู้ช่วยประจำราชสำนัก อัจฉริยภาพของ บีโธเฟนน้อยได้ฉายแววให้เห็น ขณะที่บีโธเฟนทำงานเป็นนักดนตรีประจำราชสำนัก ก็ได้พยายามศึกษาเล่าเรียนดนตรีไปจนมีความสามารถด้านการประพันธ์เพลง ขณะเดียวกันก็พยายามศึกษาหาความรู้และพัฒนาความคิดอ่าน จากพื้นฐานความรู้เพียง ป.4 (Grade 4) ที่ได้เรียนมา เพื่อให้สามารถเข้าสังคมกับปัญญาชนและผู้มีอันจะกิน และเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต
บีโธเฟน เล่นเครื่องเปียโนสดให้ โมสาร์ท ฟังเป็นครั้งแรกและทำให้เขาต้องตะลึง!
พออายุได้ 17 ปี ได้รับการสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่และ เพื่อนผู้มีอันจะกิน ให้มีโอกาสไปเยือนกรุงเวียนนาเป็นครั้งแรก มีคำบอกเล่าว่า บีโธเฟนได้แสดงฝีมือด้านเปียโนสดให้โมสาร์ทฟัง จนโมสาร์ทบอกกับคนรอบข้างให้จับตาดูคนนี้ไว้ และว่า วันหนึ่งเขา จะสร้างผลงานให้คนทั้งโลกกล่าวถึง
บีโธเฟนอยู่ที่เวียนนาได้ไม่ถึง 2 อาทิตย์ก็ต้องรีบเดินทางกลับกรุงบอนน์เพราะได้รับข่าวว่าแม่ป่วยหนัก หลังจากที่แม่สิ้นชีวิตลง เขาต้องทำงานหนักเพื่อดูแลครอบครัว ซึ่งมีทั้งพ่อและน้องอีก 2 คน
บีโธเฟน โชว์ผลงานการประพันธ์ดนตรี ครั้งแรก และเริ่มฝึกวิทยาศิลป์
ปี ค.ศ.1792 ระหว่างทางที่โยเซฟ ไฮเดน (Joseph Haydn) ปรมาจารย์ทางดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งยุค เดินทางกลับจากอังกฤษ ได้แวะเยี่ยมเยียนราชสำนักกรุงบอนน์ เป็นโอกาสที่บีโธเฟน ได้เข้าพบ และโชว์ผลงานการประพันธ์ดนตรี ไฮเดนทึ่งในความสามารถและเห็นแววอัจฉริยะของบีโธเฟน ได้เสนอให้ไปเรียนดนตรีที่กรุงเวียนนากับเขา ซึ่งแผนการนี้ก็เป็นจริงจากการสนับสนุนของหลายฝ่ายเมื่อปลายปี
สัมพันธภาพระหว่างอาจารย์และศิษย์ต่างวัยเป็นไปได้ไม่ดีนัก ด้วยศิษย์เป็นหนุ่มไฟแรงอารมณ์ร้อน หยิ่ง และดื้อรั้น ตัวบีโธเฟนเองก็ไม่พอใจการสอนของไฮเดน แต่ก็ยังเกรงใจอาจารย์ผู้อาวุโส เขาจึงแอบย่องไปเรียนกับนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงหลายคน
โดยระหว่างนั้น บีโธเฟนเองก็มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักเปียโนที่มีความสามารถด้านเปียโนสดได้เก่งที่สุดแห่งยุค ต่อจากโมสาร์ท ซึ่งสิ้นชีวิตไปแล้ว ชื่อเสียงและความสามารถในการเล่นเปียโนของ บีโธเฟน ทำให้ฐานะทางการเงินดีขึ้น แต่ เขายังไม่ได้แสดงผลงานเพลงออกสู่สาธารณะ เพราะอยู่ระหว่างฝึกวิทยาศิลป์
ผลงานการประพันธ์ของ บีโธเฟน ออกสู่สายตาประชาชนเป็นครั้งแรก
หลังจากจบการศึกษาดนตรีกับอาจารย์ ไฮเดนและอื่นๆ ในปี 1795 เขาได้แสดงผลงานเพลงและเริ่มสร้างชื่อเสียงในฐานะนักประพันธ์ดนตรีอย่างเต็มตัว ผลงานเพลงยุคแรกของบีโธเฟน จะมีรูปแบบคล้ายคลึงกับดนตรีของไฮเดน และโมสาร์ท แต่ก็ยังแฝงความเป็นบีโธเฟนอยู่ด้วย และได้รับการยอมรับจากสาธารณชนอย่างรวดเร็ว
ผลงานช่วงนี้ของบีโธเฟนที่น่าสนใจ ได้แก่ เปียโนทรีโอ 1 เปียโนโซนาตา 2 เปียโนโซนาตา 7 เปียโนโซนาตา 13 (Pathetique) เป็นต้น
บีโธเฟนเป็นคนที่มีความทะเยอ ทะยานสูง หยิ่ง เจ้าอารมณ์ และรักเสรีภาพเป็นชีวิตจิตใจ สาเหตุอาจมาจากความเก็บกดจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก และบีโธเฟนมีชีวิตอยู่ในช่วงเดียวกับนโปเลียน เชื่อว่าเขาได้รับอิทธิพลจากเรื่องราวของนโปเลียนเป็นอย่างมาก
บีโธเฟน อัจฉริยะด้านดนตรี คีตกวีหูหนวก teen.mthaiimages (1)
บีโธเฟน เริ่มแต่งเพลงแหกกฎเกณฑ์ทางดนตรี และออกนอกรีตนอกรอยมากขึ้น จึงเกิดเป็นยุคโรแมนติก (Romantic Period)
เขามีแนวความคิดเป็นนักปฏิวัติทั้งในด้านดนตรีและความคิดทางสังคม เขามักได้รับการตำหนิจากปรมาจารย์อาวุโส ว่า แต่งเพลงแหกกฎเกณฑ์ทางดนตรีและออกนอกรีตนอกรอย บีโธเฟนไม่ฟังคำตำหนิเหล่านั้น ยังคงพัฒนาดนตรีไปตามแนวทางของตนอย่างเอาจริงเอาจัง?โดยมีความใฝ่ฝันจะสร้างผลงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์พึงสร้างได้
สิ่งที่บีโธเฟนกำลังทำอยู่คือการสอดแทรก ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของตนลงในดนตรี ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดวิสัยในยุคนั้น (ที่เรียกว่า Classical period) ดนตรีขั้นสูงคือรูปแบบทางศิลปที่สมบูรณ์ สูงส่ง และอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่บีโธเฟนกำลังทำอยู่นั้นกลับเป็นการพลิกโฉมหน้าของโลกศิลปการดนตรี และทำให้นักวิชาการด้านดนตรี ต้องตั้งชื่อยุคของดนตรีขึ้นใหม่ ที่เรียกว่า ยุคโรแมนติก (Romantic Period)
การปฏิบัติตัวในสังคม บีโธเฟน ปฏิเสธการเป็นนักดนตรีในฐานะคนรับใช้ ของผู้มีอันจะกิน ทุกครั้งที่เขารับจ้างไปแสดงดนตรีในสถานที่ส่วนตัว เขาจะต้องได้รับการปฏิบัติดังเช่นแขกผู้ได้รับเชิญ ได้ร่วมโต๊ะอาหารกับเจ้าบ้าน ค่าจ้าง คือ สิ่งตอบแทนด้วยมิตรภาพ เขาจะแสดงความไม่พอใจออกมาอย่างไม่เกรงใจ ถ้าไม่ได้รับการปฏิบัติต่อเขาอย่างเหมาะสม
บีโธเฟน ประสบความสำเร็จแต่เริ่มมีอาการหูหนวก
บีโธเฟนประสบความสำเร็จในด้านการงานได้ไม่นาน เคราะห์กรรมก็กลับมาเยี่ยมเยือน เขาได้รับของขวัญส่งท้ายศตวรรษเก่าเข้าสู่ศตวรรษใหม่เป็นอาการหูหนวก เป็นเคราะห์กรรมที่น่าเกลียดยิ่ง สำหรับนักดนตรีที่กำลังฉายแววความยิ่งใหญ่ หลังจากที่บีโธเฟนตระหนักว่า อาการหูหนวกของเขาไม่สามารถจะรักษาได้และมีอาการรุนแรงจนถึงหนวกสนิท
วันที่ 6 ตุลาคม ปี ค.ศ.1802 เขาได้เขียนจดหมายกึ่งลาตายกึ่งพินัยกรรม ถึงน้องชายทั้งสองของเขา แต่อีก 4 วันต่อมาก็เขียนอีกฉบับมีใจความล้มเลิกความคิด บีโธเฟนค่อยๆ รักษาแผลในใจ ที่เกิดจากเคราะห์กรรมที่ได้เผชิญ จนจิตใจเขาแข็งแกร่งกว่าที่เคย ดนตรีของเขาในช่วงนั้นจึงแสดงถึงเรื่องราวของฮีโร่ ความรู้สึกต่อชัยชนะ ธรรมชนะอธรรม และความยิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็ตรงกับชีวิตจริงของเขาที่แต่งเพลงสู้กับหูหนวก และยังได้ผลงานที่ยอดเยี่ยมฝากไว้ให้ชาวโลกสมความตั้งใจ

อ้างอิง:http://teen.mthai.com/

ประตูสู่นรก หรือ The Door to Hell

ประตูสู่นรก หรือ The Door to Hell เป็นหลุมที่ยุบตัวเนื่องจากโพรงหินปูนใต้ดิน ใกล้เมือง Derweze ประเทศเติร์กเมนิสถาน เกิดขึ้นโดยบังเอิญขณะที่มีการเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ เมื่อปีพ.ศ. 2514 โดยใต้พื้นดินแถบนี้เต็มไปด้วยหินปูนที่มีรอยแยกรอยแตกและโพรงใต้ดิน รวมกันแล้วถือว่าเป็นแหล่งสะสมตัวของก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
ตำแหน่งหลุมยุบติดไฟ ตั้งอยู่ในเขตโครงสร้างโดมที่เรียกว่า Central Karakum Arch (เครดิต GeoThai.net)


การพังทลายของหลุมขนาด 70 เมตรนี้ ได้เป็นช่องทางให้ก๊าซแทรกขึ้นมายังผิวโลก อันตรายจากก๊าซจึงต้องจุดไฟเพื่อทำการสลายก๊าซเหล่านี้ โดยคาดว่าคงจะดับได้ในไม่นาน แต่จนถึงปัจจุบันหลุมยักษ์นี้ก็ยังคงปล่อยก๊าซออกมาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปีแล้ว

ข้อมูลทางธรณีวิทยา

พื้นที่ส่วนนี้ของประเทศเติร์กเมนิสถาน เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ เรียกชื่อตามโครงสร้างหินใต้ดินว่า Central Kara Kum Arch หรือนึกภาพว่าถ้าเราลองผ่าเปลือกโลกตรงนี้ เราจะเห็นชั้นหินซ้อนกันเป็นรูปโดมใต้ดินขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 250 x 150 ตารางกิโลเมตร โดยตรงยอดโดมจะเต็มไปด้วยรอยเลื่อน และรอยแตกเป็นจำนวนมาก
ชั้นหินที่เป็นเป้าหมายของการสำรวจก๊าซคือชุดหินปูนยุคจูแรสซิก และหินทรายยุคครีเทเชียส โดยก๊าซจะพยายามเคลื่อนที่ขึ้นมาที่ยอดโครงสร้างโดม และถูกปิดกั้นไม่ให้ผ่านไปโดยชั้นหินดินดานที่แทรกสลับอยู่

ประตูสู่นรก ประเทศเติร์กเมนิสถาน (credit: ryan_roxx via flickr.com)