ในระดับปริญญาตรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้ศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเรียนปี 1-2 และได้รับทุน Frank Bell Appleby ไปศึกษาต่อ ปี 3-4 ด้านรัฐศาสตร์ที่ Claremont Men's College, Claremont University และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากที่นั่น และศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกที่ Harvard University ด้านรัฐศาสตร์ โดยได้รับทุนจาก Rockefeller ภายใต้การสนับสนุนของ อ.เสน่ห์ จามริก
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กับหน้าที่การงานและตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ
เมื่อปี 2525-2529 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะถูกทาบทามให้ลงสมัคร ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะตอบรับและก็ได้รับเลือกตั้งในที่สุด
เมื่อได้เป็น ส.ส. แล้วนั้น นายชวน หลีกภัย ได้ชักชวนให้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ มารับหน้าที่เป็นเลขานุการประธานสภา หลังจากนั้นเมื่อมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี 2531 ดร.สุรินทร์ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกครั้ง และได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการให้กับ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากนั้นในปี 2535 ดร.สุรินทร์ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ต่อมาในปี 2540 เมื่อประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ดร.สุรินทร์ ถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2540-2544 และได้มีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงมีการผลักดันบทบาทของอาเซียนในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างสมาชิกภายในอาเซียนอีกด้วย
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กับผลงานที่สำคัญในทางการเมือง
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ มีบทบาทสำคัญในเรื่องการต่างประเทศ ได้แก่ การรณรงค์หาเสียงให้ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นต้องแข่งกับ นายไมค์ มัวร์ (Mike Moore) อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยการแข่งขันนั้นดุเดือดจนอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในท้ายที่สุด ดร.สุรินทร์ ก็ได้ทำข้อเสนอที่ให้ผลัดกันเป็นผู้อำนวยการใหญ่ WTO คนละ 3 ปี จนทุกฝ่ายพึงพอใจ
นอกจากนี้ เมื่อราวปี 2540 ติมอร์-เลสเต ได้แยกตัวออกและจากอินโดนีเซีย จนเกิดความขัดแย้งและนองเลือด ซึ่งทั่วโลกต่างอยากให้เหตุการณ์ยุติ แต่ในท้ายที่สุดก็ได้ข้อยุติโดยมีฟิลิปปินส์กับไทยที่พร้อมจะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพจำนวน 3,400 นาย ไปที่ติมอร์-เลสเต แต่ด้วยที่ทั้งไทยและฟิลิปปินส์ประสบปัญหาในวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้ไปเจรจาของบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากญี่ปุ่น ส่งผลให้การส่งกองกำลังร่วมไทย-ฟิลิปปินส์ เพื่อไปรักษาสันติภาพที่ติมอร์-เลสเต ประสบความสำเร็จ
หลังจากครบวาระของรัฐบาลชวน หลีกภัย 2 (ปี 2540-2544) ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ไม่ได้รับตำแหน่งใด ๆ ในทางการเมือง จนในปี 2551 เป็นวาระที่ไทยจะต้องเป็นเลขาธิการอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศจึงมีมติให้เสนอชื่อ ดร.สุรินทร์ เป็นเลขาธิการอาเซียนตั้งแต่ ปี 2551-2555 ซึ่ง ดร.สุรินทร์ มีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศให้สัตยาบันต่อกฎบัตรอาเซียนจนแล้วเสร็จในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 นอกจากนี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ยังได้รณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทั้ง 10 ชาติตระหนักและรู้จักอาเซียนให้มากขึ้นอีกด้วย
Cr.hilight.kapook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น