วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

งานก่อสร้างของวัดกับความปลอดภัยที่ควรใส่ใจ



ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีข่าวการวิบัติของสิ่งก่อสร้างทางวิศวกรรมโยธาอยู่บ่อยครั้ง ที่จริงแล้วยังมีการวิบัติในลักษณะเดียวกันนี้อีกมาก เพียงแต่ไม่เป็นข่าวเท่านั้น ที่เกิดมากคือการวิบัติของนั่งร้านระหว่างการเทคอนกรีต บางแห่งเกิดการวิบัติของโครงสร้างระหว่างการก่อสร้างเนื่องจากขั้นตอนในการก่อสร้างไม่ถูกต้อง

มีงานก่อสร้างอยู่กลุ่มหนึ่งที่เห็นกันทั่วไปแต่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจในเชิงวิศวกรรม คืองานก่อสร้างของวัดซึ่งเป็นงานที่ไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่แจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบเท่านั้น การก่อสร้างของวัดส่วนใหญ่จะไม่มีแบบก่อสร้างที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม วัดมักให้ช่างรับเหมาทำไปตามแต่ที่ช่างเห็นสมควร ทั้ง ๆ ที่อาคารของวัดส่วนใหญ่เป็นอาคารสาธารณะซึ่งเป็นงานวิศวกรรมควบคุมตามกฎกระทรวงฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ที่ออกตาม พรบ. วิศวกร พ.ศ. 2542 และข้อบังคับสภาวิศวกรได้กำหนดให้เป็นงานที่ต้องออกแบบโดยวิศวกรโยธาที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไม่ต่ำกว่าสามัญ นอกจากนี้ยังถูกบังคับให้มีวิศวกรรับผิดชอบการออกแบบ และก่อสร้างโดย พรบ. ควบคุมอาคารอีกด้วย เนื่องจากอาคารสาธารณะเป็นอาคารที่มีคนมาใช้จำนวนมาก ต้องควบคุมกระบวนการออกแบบ และก่อสร้างอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ

การวิบัติของสิ่งก่อสร้างในวัดที่โด่งดังมาก คือ การวิบัติของธูปยักษ์ ดอกที่นครปฐมเมื่อวันที่ พฤศจิกายน 2541 ธูปซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตร ต้นกลางสูง 27 เมตร อีกสองต้นสูง 24 เมตร ใช้น็อตยึดไว้กับพื้น และมีลวดสลิงช่วยยึดด้วย ตัวธูปเป็นโครงเหล็กมีธูปจริงติดโดยรอบ และนำธูปที่ประชาชนนำมาบูชาใส่เข้าไปตรงกลาง ดังรูปที่ 1 ในคืนก่อนวันงานคือวันที่ พฤศจิกายน 2541 มีฝนตกหนักทำให้น้ำหนักของธูปยักษ์เพิ่มขึ้นมากเป็นสาเหตุให้ธูปล้มลงดังรูปที่  และโชคร้ายที่ล้มในตอนสายซึ่งมีผู้คนมาร่วมงานจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้เสียชีวิต คน บาดเจ็บ 13 คน เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กฎกระทรวงฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 ระบุให้ศาสนวัตถุที่มีความสูงตั้งแต่ เมตรขึ้นไปเป็นงานวิศวกรรมควบคุมที่ต้องออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างโดยวิศวกรโยธา

รูปที่ ธูปยักษ์นครปฐม (ภาพจากรายการเด็ดข่าวเก่า ... เล่าข่าวเด่น ช่อง 7 สี)

รูปที่ หลังการวิบัติของธูปยักษ์นครปฐม (ภาพจากรายการเด็ดข่าวเก่า ... เล่าข่าวเด่น ช่อง 7 สี)

ที่เป็นข่าวโด่งดังมากเร็ว ๆ นี้คือ เจดีย์ร้อยยอด วัดไผ่โรงวัวถล่ม เจดีย์นี้สร้างมากว่า 40 ปี คาดว่าไม่มีกระบวนการออกแบบตามหลักวิศวกรรม องค์เจดีย์ตั้งบนดินซึ่งเคยเป็นที่นา อาจเกิดจากการทรุดตัวของดิน ทำให้โครงสร้างของเจดีย์ซึ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กวิบัติได้หากการทรุดตัวไม่เท่ากัน ต่างจากเจดีย์สมัยโบราณที่ใช้ดินถมเป็นองค์เจดีย์ ดินถมสามารถปรับตัวตามการทรุดตัวได้ 


งานก่อสร้างของวัดหลายแห่งเกิดขึ้นง่าย ๆ และดำเนินไปอย่างไม่มีแผน มักใช้แบบก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และยังดำเนินการสร้างในลักษณะทำไปเรื่อย ๆ มีเงินเท่าไรก็ทำเท่านั้น ปีแรกอาจทำฐานรากก่อน ปีต่อมาระดมเงินได้ก็ทำคานคอดิน และเสา เป็นเช่นนี้เรื่อยไป จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่บางอาคารใช้เวลาก่อสร้างมากกว่าสิบปี ตัวอย่างของการเกิดขึ้นอย่างง่าย ๆ ก็คือ ประมาณ 6-7 ปีก่อน มีวัดป่าแห่งหนึ่งขอความช่วยเหลือเรื่องการก่อสร้างเจดีย์ เมื่อไปพบท่านเจ้าอาวาส ท่านชี้ให้ดูเนินดินถมขนาดประมาณ 50x50 เมตร สูงประมาณ 2-3 เมตรที่เพิ่งถมเสร็จไม่นาน แล้วบอกว่าจะสร้างเจดีย์ตรงนั้น ตั้งใจว่าจะเริ่มสร้างอาทิตย์หน้า เมื่อถามถึงแบบ ท่านตอบว่ายังไม่มีแต่อยากได้แบบเจดีย์วัดหนองแวงเมืองเก่า ขอนแก่น โดยนำรูปถ่ายมาให้ดูประกอบ ฟังแล้วเหมือนเดินเข้าไปในร้านตัดผม เอานิตยสารแฟชั่นมาเปิดเลือกทรงผมที่ชอบแล้วบอกช่างว่าเอาแบบนี้นะแล้วก็ให้ตัดทันทีเลย จบข่าว

รูปที่ เจดีย์วัดหนองแวงเมืองเก่า ขอนแก่น

เมื่อไม่นานมานี้เอง วัดแห่งหนึ่งขอให้ไปช่วยงานก่อสร้าง เมื่อไปถึงจึงทราบโจทย์ว่ามีการก่อสร้างตั้งแต่เข็มเจาะจนถึงเสาชั้นล่างไว้แล้วดังรูปที่ เดิมจะทำเป็นอาคาร ชั้น ตอนนี้จะเปลี่ยนเป็น ชั้น เมื่อถามถึงแบบ ถามถึงข้อมูลเสาเข็ม ได้เพียงรูปถ่ายระหว่างทำเสาเข็มเท่านั้น สรุปว่าสิ่งที่ทำไว้ใช้ไม่ได้ ต้องจัดทีมวิศวกรและสถาปนิกไปออกแบบให้ใหม่ ซึ่งจะมีปัญหาในการก่อสร้างที่ต้องจัดตำแหน่งของฐานรากให้ไม่ตรงกับของเดิม และต้องทุบส่วนบนของสิ่งที่ทำไว้แล้วออกบางส่วนหากกีดขวางของใหม่ นั่นคือเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์

รูปที่ งานก่อสร้างที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งดำเนินการไปส่วนหนึ่ง ก่อนที่จะต้องการเปลี่ยนแบบให้ใหญ่ขึ้น

มีวัดอีกแห่งหนึ่งติดต่อขอความช่วยเหลือไปที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัญหาคือวัดกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เป็นอาคาร คสล. ชั้น บนอาคารจะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่มากประดิษฐาน แต่เมื่อก่อสร้างไปจนถึงเสาชั้นสองดังรูปที่ 5 ผู้รับเหมามาเบิกเงินจากวัดก่อนจะบอกท่านเจ้าอาวาสว่า “ไม่อยู่หรอกครับ พังแน่ ๆ” แล้วก็เก็บของทิ้งงานไป อาคารลักษณะนี้ต้องออกแบบโดยวิศวกรที่มีใบอนุญาตไม่ต่ำกว่าสามัญ เนื่องจากเป็นทั้งอาคารสาธารณะและศาสนวัตถุ แต่เมื่ออาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าไปตรวจสอบก็ตกใจกับข้อมูลที่ได้รับ งานนี้ไม่มีแบบก่อสร้างที่ชัดเจน แม้โครงสร้างส่วนที่อยู่เหนือดินจะสามารถประมาณกำลังได้จากการทดสอบกำลังของเหล็กและคอนกรีต แต่ฐานรากเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากทางวัดเองก็ไม่มีรายละเอียดให้เลย รู้แต่ว่าเป็นฐานรากแผ่ ขนาดและเหล็กเสริมไม่มีใครรู้ ก่อสร้างไปตามแต่ช่างจะเห็นควร สุดท้ายงานนี้ต้องยกเลิกไป อนาคตอาจดัดแปลงไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีที่ไม่ทำไปตามที่คิดไว้ เพราะหากใช้งานไปแล้วเกิดการวิบัติระหว่างที่มีคนมาชุมนุมจำนวนมากแล้วจะกลายเป็นเรื่องเศร้าระดับประเทศเลยทีเดียว


รูปที่ โครงสร้างอาคารซึ่งจะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานข้างบน

สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งทำการก่อสร้างเจดีย์ดังรูปที่ 6 เมื่อก่อสร้างไปจนถึงตัวเจดีย์ในเดือนเมษายนไม่มีปัญหาใด ๆ แต่เมื่อมีฝนตกหนักในเดือนพฤษภาคม เจดีย์เกิดการทรุดตัวไม่เท่ากันจนน่ากลัวว่าจะวิบัติ 


รูปที่ 6 เจดีย์ของสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง

รูปที่ 7 เป็นตัวอย่างของการวิบัติที่เกิดอย่างต่อเนื่อง และรุนแรง ข้อมูลที่ทราบเบื้องต้นคือ ใช้เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงยาว 8 เมตรตอกลงไปจนมิด แต่จำนวนนับ (Blow Count) ยังต่ำมากจึงใช้เหล็กตอกส่งลงไปอีก 2 เมตร นั่นคือปลายเสาเข็มอยู่ลึก 10 เมตรจากผิวดิน เมื่อถามว่าที่หยุดตอกเป็นเพราะจำนวนนับสูงมากหรืออย่างไร ได้คำตอบว่ายังไม่สูงแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงหยุดแค่นั้น ไม่มีการสำรวจชั้นดินใด ๆ ทั้งสิ้น




รูปที่ 7 รูปบน ถ่ายขณะที่เริ่มมีปัญหา รูปล่าง ถ่ายหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน

เมื่อทำการเจาะสำรวจชั้นดินโดยรอบเจดีย์ พบว่าจากระดับผิวดินลงไปถึงความลึก 15 เมตรเป็นทรายละเอียดที่มีช่องว่างระหว่างเม็ดดินสูงซึ่งเป็นดินที่แข็งแรงเมื่อแห้งแต่จะสูญเสียความแข็งแรงทันทีที่ปริมาณน้ำในดินเพิ่มขึ้น เสาเข็มของเจดีย์จึงอยู่ในชั้นดินที่มีปัญหานี้ และปัญหาก็เกิดขึ้นทันทีหลังจากฝนตกหนัก ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือการก่อสร้างนี้ใช้คานคอนกรีตอัดแรงจากโรงงานมาวางบนหัวเสาแทนการหล่อในที่ทำให้คานแยกออกจากเสาอย่างเห็นได้ชัด
เรื่องสุดท้ายนี่ถือว่าเป็นงานทางวิศวกรรมชลประทานที่ต้องใช้คำว่าเหลือเชื่อ จากภาพถ่ายดาวเทียมในรูปที่ จะเห็นลำน้ำจากทางซ้ายมือไหลมาที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เก็บกักน้ำประมาณ 10-20 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำนี้เกิดจากการสร้างเขื่อนดินขวางไว้ เขื่อนดินนี้สูงประมาณ 20-25เมตร สันเขื่อนยาวประมาณ 150-200 เมตร เชื่อมต่อระหว่างเนินเขาสองข้าง คนที่อยู่ในวงการวิศวกรรมชลประทานน่าจะบอกได้เลยว่ากระบวนการของงานนี้ไม่ธรรมดา ทั้งการขออนุญาตก่อสร้างในเขตป่าสงวน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การทำแผนที่ภูมิประเทศ การสำรวจชั้นดิน การศึกษาน้ำต้นทุน การออกแบบตัวเขื่อนดิน ฯลฯ ต้องมีวิศวกรทั้งโยธา และสิ่งแวดล้อมระดับไม่ต่ำกว่าสามัญที่มีประสบการณ์มากมารับผิดชอบ
 


รูปที่ 8 เขื่อนดินขนาดใหญ่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

รูปที่ 9 การก่อสร้างเขื่อนดิน

ไม่น่าเชื่อว่าเขื่อนดินนี้ก่อสร้างโดยไม่มีกระบวนการใด ๆ ทางวิศวกรรมเลย เจ้าของโครงการคือพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่ระดมทุนมาสร้างฝาย เขื่อน จำนวนมาก เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของชาวบ้าน ท่านธุดงค์ในป่าจนทราบข้อมูลในพื้นที่ดี เขื่อนนี้เกิดขึ้นจากการที่ท่านเห็นว่าพื้นที่นี้เหมาะสมจึงให้ขุดดินจากพื้นที่ใกล้เคียงมาถมโดยไม่มีแบบทางวิศวกรรมดังรูปที่ 9  เมื่อทำการเก็บน้ำ พบว่ามีน้ำไหลลอดใต้เขื่อนบางจุด และคันดินที่ริมเขื่อนวิบัติ ณ ตำแหน่งดังรูปที่ 10 กลายเป็น Spillway ซึ่งรูปที่ 11 เป็น Spillway ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญนี้ ซ้ายมือของรูปที่ 11 คือคันดินถม ขวามือเป็นเนินเขาตามธรรมชาติ น้ำที่ไหลผ่านกัดเซาะดินออกจนเหลือแต่หินดังรูปที่ 12 การเกิดSpillway โดยบังเอิญนี้เป็นเรื่องดีเพราะหากไม่มีช่องระบายน้ำนี้ น้ำในอ่างอาจล้นเขื่อนจนเขื่อนวิบัติอย่างรุนแรงได้
 


รูปที่ 10 ภาพขยายของเขื่อนดิน



ในที่สุดกรมชลประทานก็ต้องเข้ามาแก้ปัญหาโดยการออกแบบ และกำลังจะก่อสร้างเขื่อนดินด้านท้ายน้ำของเขื่อนนี้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เขื่อนเดิมจะกลายเป็นคันดินในอ่างเก็บน้ำซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยอีกต่อไป ซึ่งการก่อสร้างจะเริ่มขึ้นเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ต้นเดือนกันยายน 2557 น้ำป่าปริมาณมากไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ ส่งผลให้คันดินถูกกัดเซาะจนเสียหายมากขึ้นจนน่าเป็นห่วงว่าจะวิบัติ
รูปที่ 11 Spillway ที่เกิดจากการวิบัติของคันดิน

รูปที่ 12 น้ำไหลผ่านช่องที่คันดินขาด

มีงานก่อสร้างของวัดอีกมากมายที่เห็นใหญ่โต แต่เกิดขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายอีกด้วย ถ้าสังเกตดูสิ่งก่อสร้างของวัด จะเห็นได้ว่ามีโครงสร้างที่ใหญ่มากเกินจำเป็นซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่เกิดการวิบัติ แต่ก็สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น งานทางวิศวกรรมที่ดีไม่ใช่ไม่พังเท่านั้น ต้องประหยัดด้วย และในบางกรณีถึงแม้จะสร้างให้ใหญ่เข้าไว้ก็ไม่ใช่จะไม่พังดังตัวอย่างที่นำมาแสดงไว้ การวิบัติของอาคารสาธารณะอาจนำมาซึ่งการสูญเสียของชีวิต และทรัพย์สินจำนวนมากได้
พระเป็นบุคคลซึ่งมีจุดเด่นตรงที่ได้รับการยอมรับนับถือจากมวลชน มีบารมีที่สามารถระดมทุนเพื่อการพัฒนาได้มากมาย เห็นกันอยู่ว่าหากหน่วยงานราชการจะทำโครงการใหญ่ ๆ มักมีปัญหากับมวลชน แต่พระสามารถทำในเรื่องเดียวกัน โดยที่มวลชนไม่เพียงสนับสนุนในเรื่องความคิดเท่านั้น หากยังยอมช่วยสนับสนุนทุนอีกด้วย ปัญหาคือพระท่านอาจไม่เข้าใจกฎหมาย และวิชาการ
ทำอย่างไรจึงจะนำเอาศรัทธา และบารมีมาหลอมรวมกับโลกของวิศวกรได้ ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์มากมายเท่านั้น แต่ยังมีความปลอดภัยต่อประชาชนผู้มีจิตศรัทธาอีกด้วย
ขอขอบคุณ http://eitprblog.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น