วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

รางวัลปาล์มทองคำ


เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จัดเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ ค.ศ. 1946 ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส นับได้ว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่ มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่ง ผู้กำกับภาพยนตร์จากทั่วโลกต่างส่งผลงานของตัวเองมาเปิดตัวในงานนี้ทุกปี คณะกรรมการตัดสินการประกวดนั้นคัดเลือกจากศิลปินนานาชาติระดับ “ปรมาจารย์” ซึ่งล้วนเป็นผู้ได้รับการยอมรับในวงการศิลปะภาพยนตร์ทั้งสิ้น [1] เรียกได้ว่าการจะผ่านด่านการแข่งขันจนได้รับรางวัลจากเทศกาลนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และรางวัลสูงสุดของเทศกาลแห่งนี้ชื่อ รางวัลปาล์มทองคำ
รางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) เป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ โดยมีการใช้ชื่อนี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1955 (ปีก่อนหน้านั้นใช้ชื่ออื่น) หลายคนอาจไม่ทราบว่ามีผู้กำกับจากประเทศไทยเคยได้รับรางวัลแห่งเกียรติยศนี้แล้ว 1 ท่าน นั่นคือคุณ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ในปี ค.ศ. 2010 [2]
หากนับตั้งแต่ปี 1955 ซึ่งเป็นปีแรกที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เริ่มใช้ชื่อ “ปาล์มทองคำ” กับรางวัลสูงสุดนั้น จะพบว่าจำนวนผู้กำกับภาพยนตร์ได้รับรางวัลนี้มาจากประเทศต่างๆดังนี้ [3]
สหรัฐอเมริกา 16 คน
อิตาลี 9 คน
ฝรั่งเศส 7 คน
สหราชอาณาจักร 5 คน
ญี่ปุ่น 3 คน
เดนมาร์ก 3 คน
กรีซ 2 คน
เบลเยียม 2 คน
โปแลนด์ 2 คน
ยูโกสลาเวีย 2 คน
เยอรมนีตะวันตก 2 คน
จีน 1 คน
ตุรกี 1 คน
นิวซีแลนด์ 1 คน
บราซิล 1 คน
เม็กซิโก 1 คน
โรมาเนีย 1 คน
สหภาพโซเวียต 1 คน
ออสเตรีย 1 คน
อิหร่าน 1 คน
แอลจีเรีย 1 คน
ไอร์แลนด์ 1 คน
ไทย 1 คน
เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเพียง ญี่ปุ่น จีน อิหร่าน และ ไทย เท่านั้นที่เป็นประเทศจากเอเชียที่เคยได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งโลกภาพยนตร์ชิ้นนี้
ศิลปะคือหนึ่งในดัชนีชี้วัด “ความเจริญ” ของสังคมมนุษย์นับแต่โบราณกาล อารยธรรมมนุษย์ที่เจริญกว่าจะมีความก้าวหน้าทางศิลปะที่มากกว่าอารยธรรมอื่น แม้จะมีเหตุปัจจัยมากมายที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของศิลปะ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเสรีภาพในการสร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่าง และทักษะการเรียนรู้ที่จะผสมผสานความงามในแบบต่างๆเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในโลกยุคนี้
การที่ไทยซึ่งเป็นประเทศเล็กๆในเอเชีย – เมื่อเทียบกับจีน ญี่ปุ่น หรือ อิหร่าน – สามารถมีภาพยนตร์ซึ่งถ่ายทำในประเทศไทย ด้วยภาษาไทย โดยผู้กำกับไทย ได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดระดับโลกนั้นจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่น่าเสียดายที่เราไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีคนไทยกี่คนที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์แห่งเกียรติยศระดับโลกเรื่องนี้
อ้างอิง : http://whereisthailand.info/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น